"รายการนอกสายตา" กับปัญหาระหว่างสโมสรและทีมชาติในฟุตบอล โอลิมปิก - FEATURE

By Artist Cheamcharoenpornkul

ฟุตบอล ยูโร 2024 และ โคปาอเมริกา กำลังจะเริ่มต้นการฟาดแข้งขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่ทุกท่านรู้หรือไม่ว่ายังมีฟุตบอลชาย โอลิมปิก 2024 รอเราอยู่เป็นสถานีถัดไปปลายเดือน กรกฏาคม อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของงานมหกรรมกีฬาซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง โอลิมปิก การแข่งขันฟุตบอลชายกลับเป็นเสมือนเพียงของตกแต่งประจำงานเท่านั้น จากการที่เหล่าบรรดาสโมสรไม่อนุญาตปล่อยตัวผู้เล่นคนสำคัญให้มาร่วมในทัวร์นาเม้นต์ ไปจนถึง ตารางการแข่งขันและข้อบังคับที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ฟุตบอลชาย โอลิมปิก ถูกมองว่าเป็นการแข่งขันไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรมากมายในโลกฟุตบอลตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

วันนี้ 90MIN ขอนำบทความของ ดิ แอธเลติก ซึ่งถูกเขียนไว้ได้อย่างครบถ้วนมาแปลให้คุณผู้อ่านทุกท่านเข้าใจว่าเหตุใด "บอลชาย" โอลิมปิก ถึงเป็นทัวร์นาเม้นต์ที่อยู่ภายใต้เงามืดมาโดยตลอด และทำไมสโมสรจึงมีสิทธิ์ขัดขวางไม่ให้นักเตะไปร่วมเล่นในการแข่งขันนี้ได้


ทำไมสโมสรถึงไม่นิยมปล่อยนักเตะไปเล่นใน โอลิมปิก ?

คำถามนี้สามารถตอบได้สองแบบ ในแบบสั้นกระชับคือ เพราะพวกเขามีสิทธิ์ทำแบบนั้น โดยกีฬา โอลิมปิก ไม่ได้ถูกจัดรวมอยู่ภายใต้การแข่งขันใน ฟีฟ่าเดย์ ดังนั้นกฎข้อบังคับต่าง ๆ ที่ระบุให้สโมสรต้องปล่อยตัวผู้เล่นไปรับใช้ทีมชาติจึงไม่ได้มีผลบังคับใช้ในการแข่งขันรายการนี้ ซึ่งแตกต่างจากศึกฟุตบอล ยูโร, โคปาเมริกา, และ ฟุตบอลโลก ที่สโมสรไม่สามารถขัดขวางนักเตะได้ หรือถ้าขัดขวางก็จะขัดต่อข้อบังคับอย่างชัดเจน

สำหรับคำตอบแบบยาวคือ บรรดาสโมสรต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของทีมเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่าการปล่อยตัวผู้เล่นคนสำคัญไปเล่นในเกมทีมชาติเกินความจำเป็น ย่อมเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่นักเตะจะได้รับบาดเจ็บ ยกตัวอย่างในกรณีของ คิลิยัน เอ็มบัปเป้, เอ็นโซ่ แฟร์นานเดซ, และ มิไคโล มูดริค ซึ่งมีคิวลงเล่นในฟุตบอล ยูโร 2024 และ โคปาอเมริกา ในช่วงกลางเดือน มิถุนายน และมีโอกาสลากยาวไปจนถึงกลางเดือน กรกฏาคม หากดาวเตะทั้งสามต้องไปเล่นต่อในฟุตบอล โอลิมปิก ในช่วงปลายเดือนเจ็ด พวกเขาจะไม่มีโอกาสได้พักฟื้นร่างกายเลยแม้แต่น้อย รวมถึงพลาดโอกาสการปรีซีซันกับสโมสรต้นสังกัดอีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลในระยะยาวต่อผลงานในฤดูกาลที่กำลังจะมาถึง หรืออาจจะทั้งอาชีพนักฟุตบอลเลยด้วยซ้ำ

กรณีศึกษาที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ เปดรี้ ในปี 2021 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าตัวเพิ่งจะทะลุขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ได้เป็นฤดูกาลแรก และด้วยความร้อนแรงในตอนนั้น เจ้าหนูมิดฟิลด์วัย 19 ปี ถูกเรียกไปรับใช้ทีมชาติต่อใน ยูโร 2020 และ โอลิมปิก ทันที ทำให้เจ้าตัวลงเล่นไปทั้งหมด 68 เกมในปีแรกของเขาในฟุตบอลอาชีพลีกสูงสุด ผลคือในฤดูกาลถัดมา เปดรี้ เจ็บหนักที่ แฮมสตริง ถึงสองหนในฤดูกาลเดียว ขัดขวางพัฒนาการของตัวเขาอย่างชัดเจน ซึ่งก็เป็นอุทาหรณ์ให้เหล่าบรรดาสโมสรต้องเก็บมาคิดอย่างหนักก่อนจะปล่อยตัวนักเตะไปเล่นในทัวร์นาเม้นต์ต่าง ๆ

โปรแกรมการแข่งขัน โอลิมปิก ก็ไม่เอื้ออำนวยและจูงใจให้สโมสรปล่อยนักเตะออกมาเล่น เพราะการแข่งขันดังกล่าวมักจะถูกจัดขึ้นในช่วงปลายเดือน กรกฏาคม ไปจนถึงต้นเดือน สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เวลาที่นักเตะจะต้องทำงานกันอย่างหนักในช่วงปรีซีซันเพื่อเรียกความฟิตของตนเองกลับมาหลังจากได้พักผ่อนร่างกายไปในช่วงปิดฤดูกาล ดังนั้นนักเตะที่ไปเล่น โอลิมปิก จะเข้าสู่โปรแกรมทุกอย่างช้ากว่ากำหนดด้วยข้อจำกัดทางด้านร่างกาย ส่งผลให้ในเกมแรก ๆ ของฤดูกาลใหม่ พวกเขาก็จะยังลงเล่นช่วยทีมไม่ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกสโมสรจะตั้งแง่ปฏิเสธทุกครั้งเมื่อเหล่าโค้ชทีมชาติขอตัวนักเตะไปเล่นในฟุตบอล โอลิมปิก เพียงแต่ส่วนใหญ่พวกเขาจะไม่ค่อยอยากให้นักเตะคนสำคัญไปเล่นเท่านั้นเอง ด้วยเหตุผลทุกประการตามที่ได้กล่าวมาด้านบน

FOOTBALL-OLY-2020-2021-TOKYO-PODIUM | ANNE-CHRISTINE POUJOULAT/GettyImages

จะเป็นปัญหาระหว่างนักเตะและสโมสรมากน้อยขนาดไหน ?

ขึ้นอยู่กับนักเตะว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเหรียญทอง โอลิมปิก มากแค่ไหน โดยส่วนใหญ่ สโมสรและนักเตะจะมีความเข้าใจตรงกันก่อนจะมีการเรียกติดทีมชาติ พวกเขาจะต้องพูดคุยกันให้ชัดเจนว่านักเตะจะได้ไปเล่นในทัวร์นาเม้นต์ไหนและกลับมาเมื่อไร อย่างไรก็ตาม ในกรณีของซุปเปอร์สตาร์คนสำคัญของทีม มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจกันให้ดี

ยกตัวอย่างเช่น ลีโอเนล เมสซี่ ในปี 2008 ซึ่งถูกห้ามไม่ให้มีส่วนร่วมในเกม โอลิมปิก ที่ ปักกิ่ง แต่หลังจากการก้าวขึ้นมาของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ในฐานะผู้จัดการทีมชุดใหญ่ของ บาร์เซโลน่า เป๊ป อนุญาตให้สตาร์ชาว อาร์เจนติน่า บินไปรับใช้ชาติได้ในท้ายที่สุด ซึ่งก็ทำให้ เมสซี่ คว้าเหรียญทอง โอลิมปิก มาครองได้สำเร็จอีกด้วย หรือจะเป็นดีลระหว่าง บาร์เซโลน่า กับ สมาพันธ์ฟุตบอลบราซิล เกี่ยวกับ เนย์มาร์ ในปี 2016 ซึ่งตกลงกันไว้ว่าจะให้ดาวเตะชาว บราซิล ลงเล่นใน โอลิมปิก ที่บ้านเกิดได้ แต่มีข้อแม้คือใน โคปาอเมริกา 2016 เนย์มาร์ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ไปติดทีม ดังนั้นจากสองกรณีดังกล่าว มันจึงเป็นการพูดคุยตกลงกันระหว่าง ทีมชาติ สโมสร และตัวนักเตะ ล้วน ๆ

แต่ในกรณีที่มีข่าวในแง่ลบออกมาให้เห็นก็มีเหมือนกัน เช่น เอ็มบัปเป้ ในปีล่าสุด ซึ่งเจ้าตัวถูกห้ามจากต้นสังกัดใหม่อย่าง เรอัล มาดริด ไม่ให้ไปร่วม โอลิมปิก ในบ้านเกิดของตนเองโดยเด็ดขาด ดาวเตะวัย 25 ปีก็ออกมายอมรับว่าเสียดายและผิดหวัง เพราะเจ้าตัวเปิดเผยมาโดยตลอดว่าอยากลงเล่นรับใช้ทีม ตราไก่ ใน โอลิมปิก 2024 แต่เขาก็เข้าใจในมุมของสโมสร ในอีกกรณีที่เผ็ดร้อนกว่าคือ เอมิเลียโน่ มาร์ติเนซ ที่ออกมาเปิดเผยต่อสื่ออย่างชัดเจนว่าตนพร้อมงัดกับสโมสรต้นสังกัดเพื่อให้ได้ไปเล่นใน โอลิมปิก ที่ ปารีส

Olympics Day 15 - Football | Koji Watanabe/GettyImages

ทำไมฟุตบอลชาย โอลิมปิก ถึงไม่ใช่ทัวร์นาเม้นต์ที่สำคัญเท่ารายการอื่น ?

เหตุผลเป็นเรื่องของผลประโยชน์ซึ่ง ฟีฟ่า ไม่ต้องการให้มีมหกรรมกีฬาฟุตบอลอันไหนมาเทียบรัศมีความยิ่งใหญ่ของ ฟุตบอลโลก ได้ พวกเขาจึงตั้งกฎเหล็กขึ้นมาเพื่อจำกัดคุณสมบัตินักเตะที่จะเข้าร่วมในฟุตบอลชาย โอลิมปิก โดยในช่วงแรกมีเพียงนักเตะที่ไม่เคยเล่นใน ฟุตบอลโลก เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในฟุตบอล โอลิมปิก ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎในช่วงยุค 90 โดยระบุให้แต่ละชาติส่งผู้เล่นที่อายุไม่เกิน 23 ปีลงแข่งขันได้เท่านั้น โดยมีข้อยกเว้นให้ผู้เล่นเพียง 3 คนมีอายุเกินโควต้าได้ ดังนั้น ฟุตบอลชาย โอลิมปิก จึงเปรียบเสมือนเวทีประกวดดาวรุ่ง ยู-23 ซึ่งไม่ได้โด่งดังและไม่ได้รับความสนใจมากเทียบเท่ากับการแข่งขันรายการอื่น ต่างจากฟุตบอลหญิง โอลิมปิก ซึ่งไม่มีข้อจำกัดใด ๆ มาพัวพัน จนถูกยกให้มีความสำคัญเป็นลำดับสองรองจาก ฟุตบอลโลกหญิง เพียงรายการเดียว

และถ้าหากเทียบกับกีฬาอย่าง บาสเก็ตบอล ฟุตบอลชาย ใน โอลิมปิก ถือว่าห่างชั้นกันหลายขุมเลยทีเดียว เพราะฝั่ง บาสเกตบอล ปราศจากข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าบรรดาทีมชาติจะได้รับไฟเขียวให้ส่งผู้เล่นลงแข่งขันได้อย่างจัดหนักจัดเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าบรรดาผู้เล่นจาก NBA ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความเก่งกาจที่สุดในโลก ก็จะได้รับโอกาสรวม "ดรีมทีม" กันในทัวร์นาเม้นต์นี้อีกด้วย


เหล่านักเตะสตาร์ดังลงเล่นใน โอลิมปิก

แม้จะมีกฎเหล็กที่ถูกตั้งไว้มาตั้งแต่ปี 1992 แต่จะว่าไปแล้ว ฟุตบอลชาย โอลิมปิก ก็ไม่เคยขาดสตาร์ชูโรงในแต่ละปีการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น ลีโอเนล เมสซี่, เนย์มาร์, อังเคล ดิ มาเรีย, คาร์ลอส เตเบซ, ซามูเอล เอโต้, เจย์ เจย์ โอโคชา, หรือแม้กระทั่ง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็จัดอยู่ในรายชื่อแข้งที่เคยได้รับเหรียญทอง โอลิมปิก ในยุคสมัยของพวกเขาทั้งสิ้น รวมถึงเหล่าบรรดานักเตะอย่าง ติอาโก้ ซิลวา, โรนัลดินโญ่, อันเดรีย ปิร์โล, ชาบี้, การ์เลส ปูโยล, อิวาน ซาโมราโน่, ฮาเวียร์ ซาเน็ตติ, โรนัลโด้, โรแบร์โต้ คาร์ลอส ที่แม้จะไม่ได้ไปถึงตำแหน่งแชมป์ แต่ก็มีโอกาสได้แวะเวียนมาสร้างสีสันบนเวที โอลิมปิก ในครั้งหนึ่ง


เราจะได้เห็นสตาร์ดังคนไหนบ้างใน โอลิมปิก 2024 ที่ ปารีส ?

มาถึงช่วงคำถามสุดปวดใจ ซึ่งคำตอบที่ได้คือ โอลิมปิก 2024 อาจเป็นทัวร์นาเม้นต์ที่เราได้เห็นสตาร์ดังตัวชูโรงน้อยที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว ด้วยสาเหตุที่เหล่านักเตะคนดังต่างโรยราไปตามกาลเวลา รวมถึง คิลิยัน เอ็มบัปเป้ ที่ถูกห้ามไม่ให้มีส่วนร่วมจากทางสโมสร ดังนั้นจะเหลือเพียง วอร์เรน ซาอีร์-เอเมรี และ แบรดลีย์ บาโคลา สองนักเตะจาก เปแอชเช ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงก็ยังไม่ถึงขั้นเพิ่มมูลค่าทางการแข่งขันได้มากสักเท่าไร และยังมี ไมเคิล โอลิเซ่ ที่ยังต้องลุ้นว่าจะได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมด้วยหรือไม่จากข่าวลือการย้ายทีมในปัจจุบัน

ในส่วนของสตาร์ พรีเมียร์ลีก อย่าง ฮูเลียน อัลวาเรซ ได้รับไฟเขียวจากทาง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ให้กรำศึกยาวทั้งใน โคปาอเมริกา และ โอลิมปิก 2024 ในขณะที่ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ยังต้องรอใบอนุญาตจากทางกุนซือใหม่อย่าง อาร์เน่ สล็อต ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ส่วนในกรณีของ บาร์เซโลน่า ซึ่งเคยมีบทเรียนมาแล้ว อาจตัดสินใจห้าม ลามีน ยามาล, เปา คูบาร์ซี่, กาบี้, และ เปดรี้ ไม่ให้มีส่วนร่วมในเกม โอลิมปิก ฤดูร้อนครั้งนี้

Argentina v Paraguay - FIFA World Cup 2026 Qualifier | Marcelo Endelli/GettyImages

ต้นฉบับของบทความนี้เผยแพร่ภายใต้ 90min.com/TH ที่ชื่อ "รายการนอกสายตา" กับปัญหาระหว่างสโมสรและทีมชาติในฟุตบอล โอลิมปิก - FEATURE.